ตั้งชื่อแบรนด์ อย่างไรให้คนจำง่าย ติดหู จนต้องซื้อ
ตั้งชื่อแบรนด์ อาจจะดูเป็นเรื่องเป็นเล็ก แต่อย่าลืมว่าปัจจุบันมีสินค้ามากมายหลากชนิดอยู่ในท้องตลาด หากเราต้องการให้สินค้าของเราเป็นที่สนใจ เป็นที่จดจำ เราก็ไม่สามารถเลี่ยงการตั้งชื่อไปได้เลย เพราะนั่นจะเป็นสิ่งแรกที่คนจะกล่าวถึง ในการสร้างธุรกิจ สินค้า หรือแบรนด์การตั้งชื่อถือเป็นปัญหาอย่างหนึ่งเลย โดยเฉพาะหากเป็นการทำโดยมีหุ้นส่วนแล้วด้วยละก็ มีความเป็นไปได้สูงที่กว่าจะได้ชื่อโดนใจทุกคน แล้วจะยังติดหูติดใจ จะสร้างความปวดหัวให้ได้มากเลยทีเดียว เราลองมาดูกันดีกว่าว่าการจะตั้งชื่อสินค้า หรือแบรนด์นั้น มีเทคนิคอย่างไรบ้าง
1.ชื่อไม่ยาว จนจำไม่ได้
ชื่อแบรนด์ที่ดีจะต้องไม่ยาวจนเกินไป เพราะยิ่งใช้คำมาก คำยิ่งยาวเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้จำได้ยากมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นลองนึกถึงตอนที่เราต้องโฆษณา ประชาสัมพันธ์สินค้าดู ว่าจะยุ่งยากแค่ไหน หากชื่อแบรนด์ยาวจนไม่สามารถเขียนจบได้ในย่อหน้าสั้นๆ ในช่วงเวลาที่คนมักเลื่อนผ่านหน้าจอ มากกว่าตั้งใจอ่านอย่างจริงจัง จะดีกว่าไหมหากชื่อสินค้าของเรามีความยาวไม่เกินสัก 4 พยางค์ เพื่อให้อ่านได้ง่าย กวาดตามองทีเดียวก็รู้ หรือ หากจะใช้คำสองคำรวมกัน แต่อาจจะเกิน 4 พยางค์ไปสักหน่อย แต่ทำให้คนเข้าใจ หรือง่ายต่อการออกเสียงก็ยังถือว่าได้อยู่ เลือกใช้คำที่มีความหมายจบในคำเดียว ไม่ต้องยืดเยื้อ
2.ชื่อไม่สั้น ไม่ห้วน ไม่สับสน
การเลือกใช้คำแบบ คำเดี่ยวโดดๆ สั้นกระชับจบในพยางค์เดียวก็เป็นที่นิยมเช่นกัน แต่ต้องคำนึงด้วยว่าคำที่เราใช้นั้นสื่อไปไหนทางไหนใดบ้าง เพราะบางทีคำที่ห้วนเกินไปก็อาจก่อให้เกิดความสับสนได้ และต้องดูด้วยว่าพยางค์เดียวที่เราเลือกใช้นั้นไปซ้ำกับชื่อ3-4พยางค์ของสินค้าแบรนด์อื่นหรือไม่ เพราะถ้าคำสั้นๆที่เราเลือกใช้ไปซ้ำกับคำที่มีอยู่ในชื่อสินค้าแบรนด์อื่นก็อาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน จะเห็นได้ว่าการเลือกใช้คำไม่ว่าจะสั้น หรือยาวก็จะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วยถึงหลายๆแง่มุมโดยเฉพาะในส่วนของสินค้าที่เราต้องการจำหน่ายหรือบริการ
3.ความหมายของคำ รูปแบบการใช้
การเลือกใช้คำให้ดีนั้นก็ควรเป็นคำที่มีความหมายด้วย เพื่อจะให้เข้าถึงผู้คนได้ โดยเฉพาะคำที่คนคุ้นเคยเข้าใจความหมายอยู่แล้ว อย่างคำว่า แซ่บ เมื่อพูดคำนี้คนก็มักจะนึกถึงอาหารรสจัดจ้านถึงใจ หรือที่เป็นที่นิยมอีกอย่างคือการใช้ชื่อเฉพาะมาตั้งเป็นชื่อสินค้า อย่างการใช้ชื่อต้น หรือชื่อสกุลมาเป็นชื่อสินค้า หรือหากเป็นการเล่นคำ ก็ต้องมั่นใจด้วยว่าคำนั้นๆจะง่ายต่อการเข้าใจ ไม่สร้างความสับสน การเลือกคำต่างๆมาใช้ ไม่ควรเลือกคำที่ยากเกินไป โดยเฉพาะคำที่อ่านยาก ออกเสียงยาก อาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความไม่มั่นใจ การใช้คำผวนก็ต้องระวัง ต้องคำนึงด้วยว่าบางคนก็ไม่สามารถผวนคำได้ และอาจจะไม่เข้าใจถึงการเล่นคำที่เราต้องการสื่อ นอกจากนี้ การใช้คำที่ส่อเสียด หรือหมิ่นเหม่ไปในทางใดทางหนึ่งก็อาจก่อให้เกิดความสับสนได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นการเลือกใช้คำต่างๆจึงต้องคำนึงถึงความหมายของคำนั้นๆให้ดี
4.ชื่อที่เรียบง่ายเข้าใจง่าย
หลายคนอาจคิดว่าควรจะตั้งชื่อที่เก๋ เท่ แปลก แตกต่างเข้าไว้ จริงๆแล้วชื่อแบบนั้นก็มีเอกลักษณ์ดี แต่ก็ต้องคิดด้วยว่ามันยากเกินไปต่อการเข้าถึงผู้คนไหม ชื่อที่เรียบง่าย แต่เก๋เข้าใจง่ายก็มี ชื่อที่ใช้คำไทยอาจจะพ้องรูปพ้องเสียงมาเล่นคำให้เกินความเท่ก็มี ดั้งนั้น คำง่ายๆ เรียบๆที่สะดุดหู ย่อมดีกว่าการใช้คำแปลกที่คนไม่คุ้นเคย
5.ตั้งชื่อให้สอดคล้อง
ชื่อที่เราจะตั้งจะต้องสอดคล้องกับสินค้าของเราด้วย ควรตั้งชื่อมีทิศทางไปแนวเดียวกับสินค้า อย่างเช่นถ้าสินค้าของเราคือครีมบำรุงผิว การเลือกใช้คำที่ทำให้รู้สึกสวยก็ย่อมดีกว่าการเลือกใช้คำที่ทำให้รู้สึกหมดความมั่นใจ ควรมีการเลือกใช้คำที่ทำให้คนได้ยินอล้วรู้สึกอย่างใช้ผลิตภัณฑ์ของเรา สรุปได้ว่า สิ่งที่สำคัญในการตั้งชื่อคำ จำนวนพยางค์ ความหมายของคำ ความสอดคล้องกับสินค้านั่นเอง ทีนี้เราก็รู้เทคนิคแล้วว่าเราจะตั้งชื่อแบรนด์ของเราติดหูคนทั่วไปได้อย่างไร