เรื่องราว โพรไบโอติกส์, พรีไบโอติกส์, ซินไบโอติกส์ และโพสไบโอติกส์

โพรไบโอติกส์ (Probiotics) พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) ซินไบโอติกส์ (Synbiotics) และโพสไบโอติกส์ (Postbiotics)

สวัสดีค่ะ กลับมาอีกครั้งกับข้อมูลดีๆ จาก RVM วันนี้เรามีประเด็นฮอตที่ได้รับความสนใจอย่างมากในตอนนี้ คือ เรื่องราวของโพรไบโอติกส์ (probiotics) พรีไบโอติกส์ (prebiotics) ซินไบโอติกส์ (synbiotics) และโพสไบโอติกส์ (postbiotics) มาแบ่งปันกันค่ะ เรามาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ

โพรไบโอติกส์ คืออะไร?

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประเทศไทยได้ให้ความหมายของโพรไบโอติก ว่า คือ “จุลินทร์ที่มีชีวิตซึ่งเมื่อร่างกายได้รับในปริมาณที่เพียงพอจะทำให้เกิดผลที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ” ซึ่งมีงานวิจัยทั้งในเรื่องการส่งเสริมระบบทางเดินอาหารให้ทำงานได้เป็นปกติ การลดระดับคอเลสเตอรอล ลดระดับความดันโลหิต การลดติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ปรับเปลี่ยนการทำงานของภูมิคุ้มกันในร่างกาย สร้างสารเมตาบอไลท์ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และอื่นๆ อีกมากมาย โพรไบโอติกส่วนใหญ่เป็นแบคทีเรีย มียีสต์บ้างแต่เป็นส่วนน้อยค่ะ เรามักจะพบทั้งในรูปแบบของอาหาร  สารเสริมอาหาร และในอาหารหมักดองประเภทต่างๆ ค่ะ

โพรไบโอติกมีหลายกลุ่มหรือตระกูล (Genus) ถ้าอธิบายง่ายๆ ก็คล้ายๆ กับการแยกระหว่างชื่อจังหวัด แต่ละจังหวัด ซึ่งกลุ่มโพรไบโอติกต่างๆ มีดังนี้ค่ะ

  • แลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus)
  • บิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium)
  • แซคคาโรไมซีส (Saccharomyces) ซี่งอยู่ในกลุ่มยีสต์
  • สเตรปโตคอคคัส (Streptococcus)
  • เอนเทอโรคอคคัส Enterococcus
  • เอสเชอรีเชีย (Escherichia)
  • บาซิลลัส (Bacillus)

ในแต่ละจังหวัดก็จะมีอำเภอใช่ไหมคะ ซึ่งเปรียบเสมือนชนิด (Species) ของโพรไบโอติกนั้นๆ ค่ะ เราจะสังเกตุว่า ชื่อของโพรไบโอติกก็จะเริ่มยาวขึ้นแล้วค่ะ เช่น Lactobacillus reuteri  Bifidobacterium longum

ในแต่ละอำเภอก็จะต้องมีตำบลค่ะ หรือ สายพันธุ์(Strain) เราจะเห็นคำต่อท้ายด้วยรหัสหรือตัวเลขแปลกๆ เช่น Bifidobacterium lactis HNO19 (ใช้ลดความรุนแรงของโรคท้องร่วงในลูกสุกร ) Lactobacillus plantarum sp. P28-32 (พบในปูเค็ม) Lactobacillus delbrueckii ssp. bulgarius (พบในโยเกิร์ต) เป็นต้น

ในการคัดเลือกโพรไบโอติกในเชิงคุณภาพ เพื่อให้ได้โปรไบโอติกสายพันธุ์ดีๆ นั้นเราดูที่ระดับตำบลหรือ strain กันค่ะ ยกตัวอย่างเช่น นักวิทยาศาสตร์มักนิยมใช้เซลล์ต้นกำเนิดของอิพิทีเลียมเซลล์ของลำไส้ (Caco-2) มาเพาะเลี้ยงในหลอดทดลองเพื่อดูความสามารถของโพรไบโอติกในการยึดเกาะกับผนังลำไส้หรือความสามารถในการครองพื้นที่และทำลายเชื้อก่อโรคของ จากนั้นเมื่อได้เชื้อที่ดีที่สุดแล้วจึงทำการทดลองในสิ่งมีชีวิตขั้นถัดไป ไม่ว่าจะการทำการศึกษาถึงความเป็นพิษกับสัตว์ รูปแบบการนำไปใช้และผลกระทบ ความเป็นไปได้ในการผลิต

แบคทีเรียที่สนใจทั้งทางด้านอุตสาหกรรม เทคโนโลยี ต้นทุน ข้อกฏหมาย เป็นต้น จนกว่าจะได้โพรไบโอติกสายพันธุ์ที่ให้ผลลัพธ์ที่เฉพาะเจาะจง ฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการเลือกกลุ่มตระกูล (หรือจังหวัด) เยอะๆไว้ก่อนแบบเดียวกับการเลือกมัลติไวตามินเลยค่ะ อาจจะเลือกแบบ multi-strain ซึ่งแต่ในแต่ละ strain นั้นควรจะมีประโยชน์เฉพาะเจาะจงตามที่เราต้องการ เมื่อเป็นเช่นนี้การรู้ชื่อของสายพันธุ์จุลินทรีย์จึงเป็นเพียงวิธีการเดียวในการทราบถึงประโยชน์ของจุลินทรีย์นั้นๆ  นอกจากนี้ ปริมาณที่เหมาะสมของสายพันธุ์ที่ถูกต้องก็เป็นสิ่งสำคัญ ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกที่ดีจึงควรให้ความสำคัญกับคุณภาพมากกว่าปริมาณนั่นเองค่ะ

เกณฑ์ในการเลือกในเบื้องต้น

  1.  จำแนกได้ชัดเจนถึงระดับสายพันธุ์ (strain)
  2.  ทนต่อกรดและน้ำดีเพื่อที่จะอยู่รอดไปถึงลำไส้ใหญ่ได้
  3.  มีความสามารถในการยึดเกาะกับผนังลำไส้
  4.  มีปริมาณที่เพียงพอที่จะก่อให้เกิดผลดีและขยายจำนวนได้ในลำไส้ (ประมาณสิบล้าน-หนึ่งพันล้าน cfu/ml ของผลิตภัณฑ์)
  1.  ให้ประโยชน์ต่อโฮสต์ (ผู้บริโภค) เช่น มีความสามารถในการต้านทานเชื้อก่อโรค เสริมธาตุอาหารที่จำเป็นและผลิตเอนไซม์ที่ส่งผลดีต่อโภชนาการ ปรับตัวได้ดี และมีประโยชน์ต่อการพัฒนาการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย
  2.  มีหลักฐานยืนยันว่าปลอดภัยในการใช้

เกณฑ์ในการเลือกในเบื้องต้น

 

  1.  มีความคงตัวสูงทนต่ออุณหภูมิในระดับต่างๆ โดยเมื่อผ่านกระบวนการผลิตโพรไบโอติกแล้วต้องสามารถที่จะมีชีวิตอยู่และเก็บรักษาได้นาน

ร่างกายของเรามีจุลินทรีย์มากกว่า 400 สายพันธุ์ แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มตามชนิดของอาหารที่จุลินทรีย์ใช้ดังนี้ค่ะ

  1.  กลุ่มที่ใช้แป้งเป็นอาหาร (Carbolytic bacteria) ได้แก่ Lactobacilli Eubacteria และ Bifidobacteria
  2.  กลุ่มที่ใช้โปรตีนเป็นอาหาร (Proteolytic bacteria) ได้แก่ Pseudomonas aeruginosa Proteus Staphylococci Clostridium และ V. eillonellae
  3.  กลุ่มที่ใช้แป้งและโปรตีนเป็นอาหาร ได้แก่ Enterococci E.coli Streptococci และ Bacteroides กลุ่มที่ใช้แป้งเป็นอาหารจะได้ Lactate ซึ่งเป็น ไขมันสายสั้น (Short Chai Fatty Acid : SCFA) ช่วยรักษาสภาวะแวดล้อมของเหลวในลำไส้ ขณะเดียวกันก็ปล่อยสารที่เรียกว่า แบคทีรีโอซิน (Bacteriocin) มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อและควบคุมเชื้อก่อโรค แบคทีเรียแลคติกบางสายพันธุ์เราสามารถนำมาประยุกต์ในการถนอมอาหารแทนการใช้สารเคมี อย่างเช่น โพแทสเซียมไนเตรทได้ และหากอาหารของแบคทีเรียกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเส้นใยอาหารและกลุ่มโอลิโกแซคคาไรด์ซึ่งไม่สามารถย่อยในลำไส้เล็กได้และเคลื่อนมาที่ลำไส้ใหญ่ อาหารกลุ่มนี้จะเกิดเป็นการหมัก (Fermentation) ซึ่งเมื่อเชื้อเหล่านี้ได้รับอาหารจะมีการเพิ่มจำนวนมากขึ้น และผลิตกรดไขมันสายสั้นเช่น Lactate Acetate Butyrate Proprionate เพิ่มขึ้น ซึ่งจะย้อนกลับเป็นพลังงานให้กับเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้ใหญ่อีกทีค่ะ (เรากำลังจะพูดถึงต่อไปในเรื่องของพรีไบโอติกค่ะ)

คราวนี้เราลองมาทำความรู้จักกับโพรไบโอติกกลุ่มเด่นๆ ที่มักพบในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกันค่ะ จะขอยกตัวอย่างบางกลุ่มเด่นๆ ที่อนุญาติให้ใช้ในประเทศไทยให้รู้จักกันนะคะ 

แลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus)

เป็นกลุ่มแบคทีเรียแลคติกกลุ่มใหญ่ที่สุด (สามารถผลิตกรดแลคติกหรือกรดน้ำนมได้ มีความหลากหลายทางพันธุกรรม คุณสมบัติทางชีวเคมี และสรีระ พบได้ในลำไส้เล็ก ทางเดินปัสสาวะ และช่องคลอด พบมากในอาหารและนม แบคทีเรียชนิดนี้สามารถสร้างไบโอฟิล์มเพื่อให้อยู่รอดในสภาวะที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น สภาวะกรดในกระเพาะอาหาร ช่วยผลิตสารอาหารและวิตามิน ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยป้องกันสารก่อมะเร็งบางชนิด ตัวอย่างของแบคทีเรียกลุ่มนี้ คือ L. acidophillus L. reuteri L. rhamnosus GG และ L. casei เป็นต้น มีรายงานถึง L. animalis และ L. fermentum มีความสามารถในการยึดเกาะกับผนังลำไส้ของกระเพาะ ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ทำให้กีดขวางการจับของเชื้อก่อโรคได้

บิฟิโดแบคทีเรียม ( Bifidobacterium)

พบในช่องปาก ลำไส้ใหญ่ และช่องคลอด มีประโยชน์ในการช่วยย่อยอาหาร ช่วยผลิตกรดไขมันสายสั้น และช่วยลดการอักเสบ ช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และผลิตวิตามินบางชนิดให้กับร่างกาย ตัวอย่างในกลุ่มนี้ ได้แก่ B. bifidum B. infantis B. longum B. Thermophilum จากการศึกษาพบว่ากลุ่มแบคทีเรียแลคโตบาซิลลัส และบิฟิโดแบคทีเรียม สามารถลดฤทธิ์ของอะฟลาทอกซินได้ หลายการศึกษาพบว่าบิฟิโดแบคทีเรียมให้ผลดีเมื่อรับประทานปริมาณหนึ่งพันล้านหน่วยโคโลนีต่อวัน 

แซคคาโรไมซีส (Saccharomyces)

S. boulardii เป็นยีสต์ชนิดหนึ่ง ที่ใช้รักษาสมดุลย์ในทางเดินอาหารมาเป็นเวลา 30 ปี ปัจจุบันใช้ในการรักษาและป้องกันอาการท้องเสียหลายแบบ ได้แก่ ท้องเสียในเด็กและทารก ท้องเสียจากการท่องเที่ยว ท้องเสียที่เกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะ และท้องเสียที่มีสาเหตุมาจากเชื้อ Clostridium difficile มักพบในชาหมัก และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

กองทัพ (โพรไบโอติก) ต้องเดินด้วยท้อง

อาหารของโพรไบโอติก ก็คือ พรีไบโอติก (Prebiotic) นั่นเองค่ะ พรีไบโอติกนั้นไม่ใช่สิ่งมีชีวิต และร่างกายเราไม่สามารถย่อยได้ มีเพียงโพรไบโอติกเท่านั้นที่จะทำการย่อยหรือหมักและจะทำให้โพรไบโอติกเพิ่มจำนวนขึ้น เนื่องจากประโยชน์ส่วนใหญ่ที่ได้จากโพรไบโอติกจะเกิดจากเชื้อที่มีชีวิตอยู่ ในขณะเดียวกัน จำนวนของเชื้ออาจจะลดลงได้จากหลายปัจจัยเช่น กระบวนการผลิต การขนส่ง ความเป็นกรด-ด่าง เวลา และอุณหภูมิ เราจึงอาศัย พรีไบโอติก เสริมสร้างการเจริญเติบโตและกิจกรรมของจุลินทรีย์ในลำไส้เหล่านี้  เพื่อให้ได้เราได้ประโยชน์สูงสุดและอุดรอยรั่วจากปัจจัยต่างๆ ที่จะทำให้เชื้อจุลินทรีย์ดีๆ ลดจำนวนลง

ในความเป็นจริงรูปแบบอาหารหลักที่เราทานในแต่ละวันล้วนเป็นตัวกำหนดสัดส่วนสายพันธุ์โพรไบโอติกในร่างกายเรา หากเราทานอาหารที่ดี แน่นอนว่าจำนวน และสัดส่วนเชื้อที่ดีในลำไส้ย่อมดีไปด้วย แต่ไม่ใช่เส้นใยอาหารทุกชนิดจะสามารถเป็นพรีไบโอติกได้นะคะ พรีไบโอติกที่มีในธรรมชาติ เช่น ข้าวสาลี หัวหอม กล้วย กระเทียม มันแกว แก่นตะวัน เป็นต้น ซึ่งหลายๆ คนอาจจะมีข้อจำกัดในการหามารับประทาน จึงมีพรีไบโอติกในรูปแบบของสารเสริมอาหารมาช่วยให้เราได้พรีไบโอติกอย่างเพียงพอ ได้แก่ ฟรุคโตโอลิโกแซคคาไรด์ (Fructooligosaccharides; FOS) และ อินนูลิน (Inulin) มาช่วยทดแทนค่ะ

กองทัพ (โพรไบโอติก) ต้องเดินด้วยท้อง

พรีไบโอติก ไม่เพียงแต่ส่งเสริมการเจริญเติบโตของโพรไบโอติกให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น ยังมีประโยชน์เช่นเดียวกับเส้นใยอาหารค่ะ  คือ ช่วยในการลดระดับไขมันน้ำตาลในเลือด มีผลทำให้เพิ่มความรู้สึกอิ่ม ยับยั้งการบริโภคอาหาร ลดมวลไขมันและน้ำหนักตัว ป้องกันฟันผุ ช่วยดูดซึมแร่ธาตุบางชนิดอย่างเช่น แมกนีเซียม แคลเซียม เป็นต้น ซึ่งจัดเป็น functional food ที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียวใช่มั้ยคะ

ซินไบโอติก (Synbiotic) ทางเลือกที่สะดวกขึ้นของผู้บริโภค

ซินไบโอติกทำการรวมทั้งโพรไบโอติกและพรีไบโอติกเข้าด้วยกัน เรียกไว้ว่า มีทั้งเชื้อที่ดีและอาหารของเชื้อที่ดีพร้อมใช้กันเลยทีเดียวค่ะ ทำให้สะดวกต่อผู้บริโภคมากขึ้นค่ะ

โพสไบโอติก (Postbiotic) นวัตกรรมแห่งอนาคต

ผู้นำนวัตกรรมเรื่องสารเสริมอาหารอย่าง RVM อย่างเราไม่พูดไม่ได้เลยค่ะ ในเมื่อเราทานโพรไบโอติกเข้าไปเพื่อหวังประโยชน์ให้เชื้อดีๆ เหล่านี้ช่วยสร้างสารที่ดีต่อต่างๆ ต่อร่างกายขึ้นมา แล้วทำไมเราไม่ทานสาร(ที่ผลิตจากเชื้อเหล่านี้) เข้าไปเสียเลยหล่ะ ใช่ค่ะ! โพสไบโอติก คือ สารที่เหล่าจุลินทรีย์ดีๆ สร้างขึ้นมาซึ่งมี หลายชนิดไม่ว่าเป็น กรดไขมันสายสั้น เปปไทด์ มูโคเปปไทด์ (Mucopeptides) เทโคอิค แอซิด (Teichoic acid) เป็นต้น มีประโยชน์กับสุขภาพของเรา โพสไบโอติกนั้นจริงๆ อยู่คู่กับ โพรไบโอติกค่ะ แม้เชื้อตายไปแล้วแต่สารที่เชื้อผลิตมานั้นยังคงอยู่ แต่การสกัดออกมาแล้วรับประทานโดยตรงเลยนั้น ช่วยตัดปัญหาเรื่องของความสามารถในอยู่รอดการเชื้อดีๆ หรือเหมาะสำหรับบางคนที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อง่าย ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เด็กเล็ก ช่วยลดการอักเสบ เช่น การอักเสบที่เกิดการรับประทานกลูเตน ได้รับผลประโยชน์ที่แน่นอนเฉพาะเจาะจงมากกว่า เป็นต้น RVM จะขอยกตัวอย่างของโพสไบโอติกที่เริ่มมีมาขายในตลาด เช่น โปรตีนไฮโดรไลเซทจาก Saccharomyces cerevisiae (ซึ่งเป็นยีสต์ที่ใช้ในการหมักเบียร์) โดยคุณสมบัติโปรตีนชนิดนี้คือช่วยให้อิ่ม ทำให้ลดการรับประทานอาหาร และส่งผลต่อการลดน้ำหนัก (แต่การทดลองยังเป็นกลุ่มเล็กเราอาจจะต้องรอไปอีกซักนิดค่ะ)  อีกตัวนึงที่น่าสนใจคือ Immunopeptide extract จากโพรไบโอติก หรือ Heat Killed Lactobacillus Plantarum L137 (HK L-137) ซึ่งเป็นโพสไบโอติกที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในลำไส้ หรือผลิตภัณฑ์ butyrate ต่างๆ เป็นต้นค่ะ

วันนี้เอาพอหอมปากหอมคอเท่านี้ก่อนนะคะ หวังว่าทุกคนคงจะได้ความรู้นำไปใช้เลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับตัวไม่มากก็น้อยนะคะ แล้วเรากลับมาพบกับสาระดีๆ จาก RMV กันใหม่ในครั้งถัดไปค่ะ

———

หากถูกใจ หรือ คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อน ๆ

ฝากกดไลค์ กดแชร์ และกดติดตามเพจของเราด้วยนะคะ

 https://www.facebook.com/revomedthailand

เพื่อเป็นแรงใจในการสร้างสรรและมุ่งมั่นส่งต่อสิ่งดีดี ต่อไปค่ะ

——————– —————-

อยากเป็นเจ้าของแบรนด์ อยากจ้างผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ

อยากสร้างความต่าง เพิ่มโอกาสในการขาย หรือ

ติดตามเรื่องราวดี ๆ ทั้งการตลาด นวัตกรรม ความงามและสุขภาพ

กดติดตามได้ที่เพจนี้เท่านั้น [อย่าลืมกด See First นะคะ]

หรือ ช่องทางติดตามอื่น ๆ ติดต่อเราได้เลยค่ะ

Tel : 061-662-4242

Line @ : @Revomed (มี@ด้านหน้านะคะ)

LINE OA: https://line.me/R/ti/p/%40revomed

Facebook:

https://www.facebook.com/revomedthailand

Website: www.revomed.co.th

Instagram: https://www.instagram.com/revomedthailand

Youtube: http://bit.ly/RevomedYouTube

——————– —————-

#อายุน้อยร้อยล้าน #RevomedThailand #รีโว่เมด

#OEMเครื่องสำอาง #OEMอาหารเสริม #คุณภาพGMP

#เจ้าหญิงวงการอาหารเสริม #รับจ้างผลิต #รับสร้างแบรนด์

#โรงงานอาหารเสริม #โรงงานเครื่องสำอาง #โรงงานผลิตครีม

เอกสารอ้างอิง

  1. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการใช้จุลินทรีย์โพรไบโอติกในอาหาร พ.ศ. 2554. (2554, 27 มิถุนายน). ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 128 ตอนที่ 86 ง.
  2. ไชยวัฒน์ ไชยสุต 2556. โพรไบโอติกจุลินทรีย์ทางเลือกเพื่อสุขภาพ PROBIOTIC Alternative Microorganism for Health. พิมพ์ครั้งที่ 1. นนทบุรี : สำนักการแพทย์ทางเลือกกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
  3. ธรณัส กระต่ายทอง 2562. เอกสารประกอบการสอนวิชา B5 Probiotic and Gut Health: หลักสูตรวิชาวิทยาการชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ.มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต.
  4. เบญจมาส ถนอมทรัพย์ 2002. โปรไบโอติกและพรีไบโอติก. เวชสาร คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปีที่ 9(2):89-98
  5.  พนารัตน์ มอญใต้ 2555. เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับจุลินทรีย์ที่เป็นมิตร: โปรไบโอติก (Probiotic). วารสารกรมวิทยาศาสตร์บริการ ปีที่ 60(189):13-15.
  6. พัทธ์ธีรา โสดาตา. ประโยชน์ของโพรไบโอติก. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สืบค้นทางอินเตอร์เน็ต https://www.google.com/url?sa=t&source=web&rct=j&url=https://pharm.tu.ac.th/uploads/pharm/pdf/articles/20181002_4.pdf&ved=2ahUKEwjWjMf01_zvAhU2zTgGHRuRAgYQFjAAegQIBRAC&usg=AOvVaw13S9DbIw8vkEOGc8ARakQU วันที่ 10 เมษายน 2564
  7.  สุภัจฉรา นพจินดา 2021. โพรไบโอติกส์กับการส่งเสริมสุขภาพ Probiotics for Health Promotion. วารสารพยาบาลทหารบก. ปีที่ 15(3):430-435.
  8.  เอกราช บำรุงพืชน์ 2562. เอกสารประกอบการสอนวิชาคาร์โบไฮเดรต: หลักสูตรวิชาวิทยาการชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ.มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต.
  9.  เอกราช บำรุงพืชน์ 2564. เอกสารประกอบการสอนวิชาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก : หลักสูตรวิชาวิทยาการชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ.มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต.
  10.  อรวรรณ ละอองคำ 2562. โพรไบโอติก : จุลินทรีย์คัดสรรเพื่อสุขภาพ Probiotic : Thecselected microorganism for human health. วารสารอาหาร ปีที่ 49(4):29-38.
  11. https://www.consumerlab.com/reviews/probiotic-supplements/probiotics/ สืบค้นวันที่ 10 เมษายน 2564
  12. https://www.precisionnutrition.com/do-probiotics-work#probiotics-chart สืบค้นวันที่ 10 เมษายน 2564
  13. https://www.metagenicsinstitute.com/?s=Probiotic สืบค้นวันที่ 13 เมษายน 2564